ความเป็นมา

จากการที่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) มีนโยบายเข้าร่วมโครงการ ASPIRE หรือ Asia and South Pacific Initiative to Reduce Emissions ซึ่งเป็นความร่วมมือกับองค์กรและผู้ให้บริการการบริการเดินอากาศระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบิน  

ปัจจุบันสมาชิก ASPIRE ประกอบด้วยหน่วยงานให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service Providers : ANSPs) ชั้นนำในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 หน่วยงาน  ได้แก่ FAA  ของประเทศสหรัฐอเมริกา Air Services Australia  ของประเทศออสเตรเลีย Airways New Zealand ของประเทศนิวซีแลนด์ JCAB  ของประเทศญี่ปุ่น และ CAAS ของประเทศสิงคโปร์  โดยทั้งหมดได้ลงนามเข้าร่วมโครงการ และจัดทำ ASPIRE Flight แล้ว ซึ่งดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาตินั้น ๆ จากนั้นสมาชิก ASPIRE อยู่ระหว่างการพัฒนาการทำงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์ของโครงการ ASPIRE

จุดประสงค์หลักของโครงการ ASPIRE คือความร่วมมือระหว่างภูมิภาคภายในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกในการผลักดันให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีและขั้นตอนปฏิบัติที่ดี (Best Practices) มาใช้ในการเดินอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบิน ด้วยการสาธิตการนำการปฏิบัติที่ดีมาใช้ในการบิน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิธีการวัดค่าผลลัพธ์การลดมลพิษ อีกส่วนสำคัญ คือการสื่อสารและประชาสัมพันธ์/ชักชวนให้เกิดการมีส่วนร่วมของสาธารณะ และการตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมจากทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันโครงการ ASPIRE  จะสร้างแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันในการเพิ่มขีดความสามารถในการบริการการเดินอากาศและการปฏิบัติการบินอีกทางหนึ่งด้วย

ขั้นตอนการดำเนินโครงการ ASPIRE  ของประเทศไทย

กิจกรรมหลักในการดำเนินโครงการ ASPIRE ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

การลงนามร่วมเป็นสมาชิกโครงการ ASPIRE จากการที่ บวท. ได้รับเชิญอย่างไม่เป็นทางการจาก Air Services Australia  ประเทศออสเตรเลีย ในการนี้ บวท. ได้เตรียมความพร้อมที่จะลงนามร่วมเป็นสมาชิกโครงการ ASPIRE ในการประชุม CANSO ANSP Conference ครั้งที่  5 ที่ บวท. ได้รับเกียรติจากสมาชิก CANSO เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554   ที่ประเทศไทยจัดให้มีการสาธิตการบิน ASPIRE Flight ซึ่งเป็นการสาธิตการบินตามเส้นทางระหว่างประเทศในแบบ “Perfect Flight”  หรือการปฏิบัติการบินที่สมบูรณ์แบบ คือมีความทันสมัย สะดวกสบาย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด  โดยรวมเทคโนโลยีและ Best Practices ต่าง ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อม/เส้นทางบินที่ปราศจากการรบกวนจากเที่ยวบินอื่น ๆ และวัดผลลัพธ์พร้อมกับกำหนดค่าเกณฑ์วัดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละเทคโนโลยี และขั้นตอนการปฏิบัติที่ดี ก่อนที่จะนำมาใช้ปฏิบัติการในเที่ยวบินประจำต่อไป 
 
ASPIRE Flight  ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งภาครัฐและเอกชน  ในเบื้องต้น บวท. ได้รับเกียรติจาก “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติตอบรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการ ASPIRE เพื่อนำเครื่องบินของสายการบินไทยมาร่วมบิน  ASPIRE Flight  ในอนาคตการที่จะได้แนวร่วมจากทุกภาคส่วนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ASPIRE จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ สื่อสารเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมการบินร่วมกันนำเสนอ Best Practices ต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

การบิน ASPIRE Flight ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้งในโลก

การดำเนินโครงการ ASPIRE ที่เกิดจากความร่วมมือของสมาชิก 5  ประเทศ ได้เคยทำการสาธิตการบินตามเส้นทางระหว่างประเทศในแบบ “Perfect Flight”  หรือการปฏิบัติการบินที่สมบูรณ์แบบ มาแล้ว 5 ครั้ง  โดยใช้ Best Practices อย่างเช่น Surface and Runway Movement Monitoring, Dynamic Airborne Reroute Procedures (DARP), Flexible Track System, Optimum Profile Descents (OPD) ฯลฯ  และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Good Initiatives) ที่จะทำให้มีความทันสมัย  สะดวกสบาย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ขัดล้างพื้นผิวอากาศยาน, จำกัดปริมาณสิ่งของส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ Crew, ใช้ตู้สินค้าแบบ Fiberglass / ใช้ภาชนะแบบ Plastic, ดับเครื่องยนต์ระหว่าง Taxi เป็นต้น

การบิน ASPIRE Flight  ที่เกิดขึ้น 5 ครั้ง ได้ใช้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ข้างต้นทำการปฏิบัติการบินประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดย
  • ครั้งที่ 1 สายการบิน Air New Zealand ทำการบิน ASPIRE Flight โดยใช้เส้นทาง Auckland – San Francisco (SFO) เมื่อเดือนกันยายน 2551
  • ครั้งที่ 2 สายการบิน Qantas Airlines ทำการบิน  ASPIRE Flight โดยใช้เส้นทาง Los Angeles – Melbourne เมื่อเดือนตุลาคม 2551
  • ครั้งที่ 3 สายการบิน United Airlines ทำการบิน  ASPIRE Flight โดยใช้เส้นทาง Sydney – San Francisco เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2551
  • ครั้งที่ 4 สายการบิน Japan Airline (JAL) ทำการบิน  ASPIRE Flight โดยใช้เส้นทาง Honolulu – Kansai (HNL-KIX) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ซึ่งลดการใช้เชื้อเพลิงได้ประมาณ 4,833 kg Fuel หรือลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,247 kg CO2
  • ครั้งที่ 5 สายการบิน Singapore Airlines (SIA)  ใช้เส้นทางบิน Los Angeles – Narita – Singapore (LAX-NRT-SIN) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็น ASPIRE Flight แบบ Multi Leg เป็นครั้งแรก และลดการใช้เชื้อเพลิงได้ประมาณ 10,686 kg Fuel หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 33,769 kg CO2
ทั้งนี้ ภารกิจ ASPIRE จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการบิน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้าน CSR-in-process ของ บวท. อย่างเป็นรูปธรรม