ข้อมูลทั่วไป

ระบบบริหารสภาพคล่องจราจรทางอากาศผ่านอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal Cooperative Air Traffic Flow Management Advisory System : BOBCAT) คือ ระบบ Web-based สำหรับให้คำแนะนำการบริหารจัดการปริมาณจราจรทางอากาศ (ATFM Advisory System) ตามเงื่อนไขขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อช่วยในการให้คำแนะนำสายการบินและผู้ให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service Provider : ANSP) ในการจัดระยะห่าง (Spacing) ของอากาศยาน ที่จะเดินทางไปทางตะวันตก ผ่านเขตข่าวสารการบินของประเทศอัฟกานิสถาน (Kabul FIR) โดยมีความสามารถในการจัดระยะห่างตามค่าระยะห่างที่ได้ตั้งไว้ ณ เพดานบินต่าง ๆ ของจุด way point ที่สามารถตั้งค่าได้


เหตุผลที่เกิดโครงการ BOBCAT

1. ข้อจำกัดทางน่านฟ้าในประเทศอัฟกานิสถาน
    - ปฏิบัติการทางการทหารภายในประเทศอัฟกานิสถาน
    - สถานการณ์การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ
    - ข้อจำกัดด้านจำนวนเส้นทางบิน
    - ระบบเพดานบินแบบ CVSM (Conventional Vertical Separation Minimum) ซึ่งมีความสามารถรองรับเพดานบินได้น้อยกว่าระบบ RVSM (Reduce Vertical Separation Minimum)   เป็น 2 เท่า ในขณะที่ระบบ RVSM ได้ถูกนำมาใช้งานในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
2. ความต้องการในการเดินอากาศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ไปทางตะวันตกเพิ่มขึ้น
3. การขาดการประสานงานในการอนุญาตให้อากาศยานขึ้นบินไปทางตะวันตก ผ่านพื้นที่ Kabul FIR
4. ความจำเป็นที่ต้องเติมน้ำมัน อันเกิดจากความจำเป็นในการเปลี่ยนเส้นทางบินระหว่างทาง

เส้นทางบินของอากาศยานที่เกี่ยวข้องกับระบบ BOBCAT

อากาศยานทุกลำที่เดินทางออกจากท่าอากาศยานใด ๆ ในภูมิภาค เช่น ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ ท่าอากาศยานนิวเดลี และอากาศยานมีเที่ยวบินเข้าสู่ยุโรปผ่านประเทศอัฟกานิสถาน ระหว่างเวลา 20:00 – 23:59 UTC ดังนั้น อากาศยานดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับ Slot การบินจากระบบ BOBCAT ก่อนทำการบินขึ้น
เส้นทางหลักผ่านอัฟกานิสถาน มีอยู่ 4 เส้นทางบิน ได้แก่
           - A466 
           - N644
           - L750
           - G792 / V390

การทำงานของระบบ BOBCAT

ระบบ BOBCAT แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะเวลา

Phase 1

-สายการบินต่าง ๆ จะเข้ามาขอ Slot การบิน ในระบบ BOBCAT ในช่วงเวลาระหว่าง    00:01 – 12:00 UTC โดยสามารถเปลี่ยนรายละเอียดคำร้องขอ Slot การบินได้ทุกเมื่อ

Phase 2

-BOBCAT ทำการจัด Slot การบิน ตามข้อมูลคำร้องขอที่ได้รับมาจากสายการบินและทำการส่งผลการจัด Slot  การบิน ให้สายการบิน เมื่อผลการจัด Slot การบิน ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ศูนย์การบริหารจัดการปริมาณจราจรทางอากาศกรุงเทพฯ (Bangkok Air Traffic Flow Management Unit)

Phase 3

-สายการบินสามารถเข้ามายังระบบ BOBCAT เพื่อเลือก Slot การบิน จาก Slot การบินที่เหลืออยู่
-เมื่อสายการบินพึงพอใจกับ Slot การบิน ที่ได้รับแล้ว ก็จะนำข้อมูล Slot การบิน ดังกล่าวไปจัดทำแผนการบินตามปกติ
-เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการการเดินอากาศต่าง ๆ (ANSP) จะสามารถ Login เข้ามาในระบบ BOBCAT เพื่อดูผลการจัด Slot การบิน และนำไปใช้ในการบริหารจราจรทางอากาศต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับจาก BOBCAT

1. ลดปริมาณงานในภาพรวมสำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการสำหรับผู้ให้บริการการเดินอากาศในภูมิภาค
2. ลดความล่าช้าในการบิน (Airborne Delay) สำหรับอากาศยาน ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการสำหรับสายการบิน
3. เปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CNS/ATM ในภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ
4. เปิดโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
5. เปิดโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่ฐานะการเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการปริมาณจราจรทางอากาศสำหรับภูมิภาค
6. เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในระบบ BOBCAT สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภูมิภาคอื่นที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องของจราจรทางอากาศ เช่น ภูมิภาคทะเลจีนใต้ เป็นต้น

การปรับปรุงระบบ BOBCAT

บวท. ได้นำระบบ BOBCAT เข้าใช้งานตั้งแต่ปี 2550 เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการจราจรทางอากาศของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านน่านฟ้าของประเทศอัฟกานิสถาน (Kabul Flight Information Region : Kabul FIR) ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรป ระบบ BOBCAT ทำให้อากาศยานได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดความล่าช้าบนอากาศ ได้ความสูงที่เหมาะสม สามารถลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงปีละ 14 ล้านกิโลกรัม และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 60 ล้านกิโลกรัมต่อปี ลดค่าใช้จ่ายให้สายการบินได้ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทั้งยังช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนและปฏิกิริยาเรือนกระจก (Greenhouse Gases)
 
 
ปัจจุบันมีสายการบินมาใช้บริการ 47 สายการบิน เป็นการสร้างเครดิตให้ประเทศไทย ซึ่งจากผลงานดังกล่าวทำให้ในปีนี้ บวท. ได้รับรางวัล Jane’s ATC Awards ด้าน Enablingechnology เป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานที่มีผลงานที่โดดเด่นทางด้านการพัฒนาความสามารถรองรับอากาศยานและความปลอดภัยทางอากาศ (capacity and safety) ถือเป็นรางวัลระดับโลกที่จัดโดยนิตยสาร Jane’s Airport Review โดยคัดเลือกจากหน่วยงานที่มีผลงานที่โดดเด่นในแวดวงอุตสาหกรรมการจัดการทางด้านการควบคุมจราจรทางอากาศ (ATM industry) กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ภารกิจ BOBCAT จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการบิน   ที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้าน CSR-in-process ของ บวท. อย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน