• ภาพเรดาร์
  • ภาพเรดาร์
  • หน้าจอเรดาร์
ระบบติดตามอากาศยาน เป็นระบบที่บอกตำแหน่ง พิกัด และระดับความสูงของอากาศยาน ปัจจุบันมีระบบ/อุปกรณ์ที่ใช้ 2 ประเภท คือ

เรดาร์ปฐมภูมิ (Primary Surveillance Radar)

เป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการควบคุมจราจรทางอากาศเขตประชิดท่าอากาศยาน (Approach Control) และเขตบริเวณสนามบิน (Aerodrome Control) โดยอาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นวิทยุความถี่สูง (ย่าน L-Band และ S-Band) ที่ส่งจากเครื่องส่ง ผ่านสายอากาศที่หมุนด้วยความเร็วคงที่ประมาณ 12 รอบต่อนาที ไปกระทบวัตถุโดยรอบ รับกลับมาเข้าภาครับเพื่อทำการแยกสัญญาณเฉพาะเป้าที่เคลื่อนที่โดยมีความสัมพันธ์กับทิศทางและระยะห่างของวัตถุต่อสายอากาศ (Rang and Bearing) เช่น เครื่องบินส่งต่อไปให้ระบบ ประมวลผลต่อไป
 

เรดาร์ทุติยภูมิ (Secondary Surveillance Radar)

ระบบเรดาร์ทุติยภูมิที่ บวท. นำมาใช้งานใช้เทคโนโลยี Monopulse Technique โดยเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการควบคุมจราจรทางอากาศในเส้นทางบิน (Area Control) ซึ่งเรดาร์ระบบนี้ใช้หลักการของการถามตอบ (Interrogation &Reply) เครื่องส่งที่ภาคพื้นดิน (Interogator) จะผลิตขบวนพัลส์ที่เป็นสัญญาณถามตามข้อกำหนดมาตรฐานส่งออกอากาศผ่านสายอากาศ เมื่ออากาศยานที่ติดตั้งอุปกรณ์ Transponder ได้รับสัญญาณถาม อุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งขบวนพัลส์สัญญาณตอบ (Reply) ที่ประกอบด้วยข้อมูล รหัสอากาศยาน (Identification) และความสูง (Altitude) ลงมายังเครื่องรับเพื่อทำการถอดรหัสต่อไป ซึ่งเรดาร์ระบบนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจจับอากาศยาน (Detection Abilities) และลดข้อจำกัดเรื่อง False Targets ของเรดาร์ปฐมภูมิ ในขณะที่สภาพอากาศไม่ดี