• เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควบคุมการจราจรทางอากาศ
  • บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ
  • บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ

หัวใจสำคัญของการเดินทางทางอากาศ คือ การไปถึงจุดหมายด้วยความปลอดภัยและรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งนอกเหนือไปจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีของยานพาหนะชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มเส้นทางหรือห้วงอากาศสำหรับสัญจรก็คือ การจัดการ หรือควบคุมจราจรนั่นเอง

การบัญญัติกฎหมาย กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติการ จำแนกอำนาจหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจราจรหรือแม้กระทั่ง การสร้างความเข้าใจให้ตรงกันล้วนแต่เป็นวิธีการและเครื่องมือเพื่อการจัดการหรือการควบคุมจราจรอันเป็นระบบที่นำไปสู่ ความปลอดภัยและรวดเร็วของการจราจรทุกด้านทั้งสิ้นและการจราจรทางอากาศซึ่งมีแผ่นฟ้ากว้างใหญ่ประดุจถนนบนอากาศ ก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้น ทั้งยังกล่าวได้ว่ามีความจำเป็นในระดับที่จะขาดไม่ได้เช่นเดียวกับการควบคุมจราจรในการคมนาคมประเภทอื่นๆ

ด้วยเหตุที่การบินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งจะมีเพียงเส้นตรงเดียวเท่านั้นที่เป็นระยะใกล้ที่สุด หากมีอากาศยานมากกว่าหนึ่งลำขึ้นไป ใช้เส้นทางในการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ หากทำการบินโดยไม่มีการจัดการก็จะมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางอากาศได้ ขณะที่ใช้ห้วงอากาศ มีความต้องการระดับเพดานบินเดียวกัน มีกำหนดเวลาบินเดียวกัน การควบคุมและจัดการให้อากาศยานทุกลำ เกิดความปลอดภัยได้นั้นต้องอาศัยบุคคลและอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยดำเนินการอย่างเป็นระบบซึ่งเรียกว่า การบริการควบคุมทางอากาศ (Air Traffic Control Service)

บริการควบคุมจราจรทางอากาศเป็นงานส่วนหนึ่งในสามงานของงานจราจรทางอากาศ (Air Traffic Service) รัฐบาลได้ มอบหมายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เป็นผู้ดำเนินงานเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ.2492 อันสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งและแบ่งอาณาเขตแถลงข่าวการบิน (Flight Information Region) ของแต่ละประเทศ ในการประชุม ICAO 1st Southeast Asia Regional Air Navigation Meeting, New Delhi,1948 โดยมีงานด้านเส้นทางบิน (En-Route) ส่วนงานด้านบริการสนามบิน (Terminal) ที่จัดการจราจร ทางอากาศโดยรอบ ๆ แต่ละสนามบินยังเป็นงานของกรมการบินพานิชย์ กระทรวงคมนาคม และกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้โอนความรับผิดชอบมาให้ บวท. ทั้งหมด

นอกจากนั้นยังมีงานแถลงข่าวการบิน (Flight Information Service) มีหน้าที่ให้คำแนะนำ และให้ข่าวสาร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัยในการบินและให้การบินลุล่วงไปอย่างมีผลกับงานอีกสองด้านคืองานเตือนภัยการบิน (Alerting Service) กับงานด้านค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue) มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เหมาะสมในกรณีที่อากาศยานต้องการความช่วยเหลือ

งานบริการควบคุมจราจรทางอากาศนับได้ว่าเป็นงานที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการจัดการให้อากาศยานลำหนึ่งเริ่มทำการบินจนกระทั่งบินถึงท่าอากาศยานปลายทางได้ เพื่อการป้องกันไม่ให้อากาศยานชนกันเอง รวมถึงการป้องกันไม่ให้อากาศยานชนกับสิ่งกีดขวางทั้งในพื้นที่ปฏิบัติการและสิ่งกีดขวางอื่นในขณะทำการบิน เช่น บอลลูน ภูเขา รถที่แล่นไปมาในพื้นที่ที่เป็นลานจอดหรือทางวิ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้การจราจรทางอากาศ เกิดความคล่องตัวและเป็นระเบียบอีกด้วย

งานควบคุมการจราจรทางอากาศตามแบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบันแบ่งหน้าที่ออกเป็น 3 ชนิด โดยจำแนกตามบริเวณที่ควบคุม คือ

 

  • การควบคุมจราจรทางอากาศบริเวณท่าอากาศยาน ( Aerodrome Control Service )
  • การควบคุมจราจรทางอากาศ เขตประชิดท่าอากาศยาน ( ApproachControl Service )
  • การควบคุมจราจรทางอากาศตามเส้นทางบิน ( Area Control Service )