การบริหารห้วงอากาศ 

แนวคิดการใช้ห้วงอากาศแบบคล่องตัว Flexible Use of Airspace เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดโครงสร้างและบริหารห้วงอากาศ (Airspace Organization and Management) ภายใต้กรอบดำเนินการของ ICAO ตามเอกสาร Circular 330 Civil/Military Cooperation in Air Traffic Management ว่าด้วยการประสานความร่วมมือด้านการบริหารจราจรทางอากาศระหว่างทหารและพลเรือน หัวใจสำคัญของ FUA คือไม่แบ่งห้วงอากาศตายตัวให้เป็นของทหารหรือพลเรือนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการใช้และบริหารจัดการห้วงอากาศซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาตามความต้องการใช้งานของผู้ใช้ห้วงอากาศทุกประเภททั้งทหารและพลเรือน ทั้งนี้ ต้องให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของทั้งสองฝ่ายให้น้อยที่สุดโดยอาศัยการประสานความร่วมมือและร่วมกันตัดสินใจ (Collaborative Decision Making) จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ครบถ้วนเหมาะสม

การบริหารห้วงอากาศ Airspace Management สามารถแบ่งออกได้เป็น  3 ระดับ โดยแต่ละระดับมีความรับผิดชอบ ดังนี้
  1. ระดับกลยุทธ์ (Strategic Level) ทำหน้าที่กำหนดหรือทบทวนนโยบายด้านห้วงอากาศ รวมถึงการจัดสรรการใช้งานห้วงอากาศ จัดตั้งหรือกำกับดูแลหน่วยงานบริหารห้วงอากาศร่วม กำหนด วางแผนและปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ รวมถึงกำหนดแนวการจัดลำดับความสำคัญความต้องการใช้ห้วงอากาศ (Prioritization) ขั้นตอนการเจรจาต่อรองการจัดสรรห้วงอากาศ (Negotiation) อำนาจอนุมัติ (Authorization)
  2. ระดับยุทธการ (Pre-Tactical Level) ทำหน้าที่วางแผนและตัดสินใจจัดแบ่งห้วงอากาศสำหรับใช้งานประจำแต่ละวันและสื่อสารกระจายข้อมูลแผนการใช้ห้วงอากาศให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  3. ระดับปฏิบัติการ (Tactical Level) ทำหน้าที่ใช้งานห้วงอากาศร่วมกันแบบ Real-time ประสานงานเมื่อมีการขอใช้พื้นที่ฉุกเฉิน หรือปรับเปลี่ยนแผนการใช้พื้นที่จากที่ตกลงกันไว้ในระดับยุทธการ (Pre-Tactical)
  4. การนำแนวคิดเรื่อง Flexible Use of Airspace (FUA) มาใช้งานในระดับปฏิบัติ (Tactical) มีอยู่ก่อนแล้ว และเริ่มขยายผลพิจารณาแนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกันให้มากขึ้นในระดับกลยุทธ์(Strategic) แต่ยังขาดแนวปฏิบัติในการวางแผนในระดับยุทธการ (Pre-tactical) เพื่อการวางแผนการใช้ห้วงอากาศล่วงหน้าวันต่อวัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ประสานงานบริหารจราจรทางอากาศระหว่างทหารและพลเรือน (Thai Civil/Military ATM Coordination Centre: Thai-CMAC)

บทบาทหน้าที่ศูนย์ประสานงานบริหารจราจรทางอากาศระหว่างทหารและพลเรือน Thai-CMAC

ศูนย์ประสานงานบริหารจราจรทางอากาศระหว่างทหารและพลเรือน Thai-CMAC เป็นการบริหารห้วงอากาศในระดับ Pre-Tactical

  1. เป็น AMC : Airspace Management Cell  ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานและวางแผนร่วมระหว่างทหาร และ ศูนย์บริหารจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management Centre : ATMC) บวท. รวมทั้งการจัดการห้วงอากาศตามลักษณะการใช้งานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ห้วงอากาศในการปฏิบัติงาน
  2. เป็นหน่วยกลางในการจัดสรรและบริหารจัดการห้วงอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ ผลประโยชน์ และความมั่นคงแห่งชาติ
  3. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดการใช้ห้วงอากาศชั่วคราว เช่น การปฏิบัติการของหน่วยฝนหลวง การฝึกบินของโรงเรียนต่าง ๆ การฝึกประจำปีต่าง ๆ เช่น COBRA GOLD COPE TIGER BALANCE TEAK TORCH การฝึกบินเดินทางของโรงเรียนการบินกำแพงแสน เป็นต้น
  4. เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมและกระจายข้อมูลการวางแผนการใช้ห้วงอากาศประเภทต่าง ๆ เส้นทางบินแบบมีเงื่อนไข (Conditional Route : CDR) และอื่น ๆ ในแต่ละวัน
  5. ให้การสนับสนุนข้อมูลกับ ATMC ในการวางแผนการใช้ห้วงอากาศแบบคล่องตัวระดับ 2 (Flexible Use of Airspace Level 2 / Pre-Tactical FUA)
  6. เก็บข้อมูลการใช้ห้วงอากาศตามที่กำหนดไว้ในแต่ละวันเพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาต่อไป

เวลาปฏิบัติงาน

มีเวลาทำการตามเวลาราชการ คือ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 17.00 น. เว้นวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามที่รัฐบาลกำหนด โดยมีเจ้าหน้าทั้ง บวท. และ ทอ. ร่วมกันปฏิบัติงานภายในศูนย์บริหารเครือข่ายการปฏิบัติการจราจรทางอากาศ (ศห.บจ.) ทำหน้าที่ประสานงานเพื่อออกแผนการใช้ห้วงอากาศ หลังเวลา 17.00 น. หรือนอกเหนือเวลาทำการ เจ้าหน้าที่ของ บวท. จะเป็นผู้รับเรื่อง ประสานงานโดยตรงกับ คปอ. และดำเนินการออกแผนการใช้ห้วงอากาศหรือเงื่อนไขการใช้เส้นทางบินในแต่ละวัน