• ภารกิจ
วิทยุการบินฯ คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มต่อเนื่อง เตรียมมาตรการรองรับ พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญพัฒนาระบบการบริหารจราจรทางอากาศ รองรับการเติบโต

ดร.ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด  (กอญ. บวท.) เปิดเผยว่า “ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา วิทยุการบินฯ ให้บริการจราจรทางอากาศ รวม 63,945 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,063 เที่ยวบิน ต่อวัน โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงกันยายน 2566 นี้ จะมีเที่ยวบินรวม 722,660 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ร้อยละ 60 ในขณะที่ปี 2567 ปริมาณเที่ยวบินจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 และจะเพิ่มขึ้นในปี 2568 ซึ่งวิทยุการบินฯ ได้เตรียมความพร้อม    ด้านวิธีปฏิบัติ (Standard Operating Procedures) และได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน   ทางวิ่ง (High Intensity Runway Operations: HIROs) รวมถึงแนวทางบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management: ATFM) ผ่านระบบบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า (Arrival Management: AMAN) และการบริหารจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure Enhancement Program (iDEP) เพื่อรองรับเที่ยวบิน นอกจากนี้ วิทยุการบินฯ ได้จัดทำแผนลงทุนโครงการสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ได้แก่ 1) โครงการจัดหาและติดตั้งเครื่องช่วย   การเดินอากาศ Instrument Landing System/Distance Measure Equipment (ILS/DME) เพื่อรองรับ    การเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบติดตามอากาศยานภาคพื้นดินแบบ Multilateration (MLAT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการจราจรภาคพื้นและเพิ่มความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 3) โครงการปรับปรุงฐานข้อมูลระบบบริหารจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) และทางวิ่งเส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 4) โครงการจัดหาและติดตั้งระบบบริหารจราจรทางอากาศ และระบบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับหอควบคุมการจราจรทางอากาศแห่งใหม่ ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่

กอญ. บวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยุการบินฯ ได้ดำเนินการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ หรือที่เรียกว่า โครงการ Metroplex ซึ่งจะจัดทำเส้นทางบินเพื่อเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ (Capacity) ของทั้ง 3 สนามบิน โดยจะคำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสม ลดจุดตัดทางการบิน เพื่อให้ทำการบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาระบบอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ จะทำให้สามารถรองรับการเติบโตได้เป็นอย่างดี สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย