• TBO1
  • TBO2
  • TBO3
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการจราจรทางอากาศ ตามแนวคิด Trajectory-Based Operation (TBO) และเข้าร่วมสาธิตการบิน Multi-Regional TBO ครั้งแรกของโลก ในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 พร้อมผลักดันการจัดการจราจรทางอากาศตามแนวทาง ICAO

ดร. ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า Trajectory-Based Operation หรือ TBO เป็นแนวคิดในการจัดการจราจรทางอากาศรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนจากการสื่อสารด้วยเสียง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบดิจิตัลผ่านระบบอัตโนมัติ โดยหน่วยงาน  ผู้ให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service Providers: ANSPs) และสายการบิน จะวางแผนการบินร่วมกันตลอดเส้นทางบิน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์    ต่อการตัดสินใจด้วยระบบอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งวิทยุการบินฯ ได้พัฒนาระบบขึ้นเพื่อร่วมทดลองและสาธิตการบินตามแนวคิด TBO นี้ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ได้แก่ องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) สำนักงานการบินพลเรือนญี่ปุ่น (Japan Civil Aviation Bureau: JCAB) สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore: CAAS) และ Boeing ซึ่งการสาธิตได้เริ่มทำการบินจากซีแอตเทิล ไปโตเกียว จากนั้น     บินจากโตเกียวผ่านกรุงเทพฯ ไปลงที่สิงคโปร์ ต่อมาบินออกจากสิงคโปร์มาลงที่กรุงเทพฯ แล้วบินกลับซีแอตเทิล การสาธิตครั้งนี้เป็นการบินตามแนวคิด TBO ที่ครอบคลุมหลายภูมิภาคครั้งแรก และจะนำผลการสาธิตเสนอแก่ ICAO เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนำไปพัฒนาและใช้เป็นมาตรฐานสากล ทั้งด้านเทคนิคและด้านวิธีปฏิบัติ

ดร. ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า TBO เป็นเป้าหมายการพัฒนาตามแนวคิดการจัดการจราจรทางอากาศสากล (Global Air Traffic Management Operational Concept) ของ ICAO ซึ่งการเชื่อมต่อข้อมูลแบบอัตโนมัติระหว่างระบบการจัดการจราจรทางอากาศที่หน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของแต่ละประเทศพัฒนาขึ้น จะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ช่วยทำให้         การวางแผนและการจัดการจราจรทางอากาศ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น ทันท่วงทีมากขึ้น ช่วยทำให้การวางแผนและการจัดการจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดความล่าช้า ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable ATM) และพร้อมรองรับความหลากหลายของประเภทอากาศยาน รวมถึงปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่ Dr. Patty Chang-Chen, Vice President & General Manager of Boeing Research & Technology กล่าวว่า การเชื่อมต่อข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเส้นทางบิน ข้อมูลการใช้ห้วงอากาศ สภาพอากาศ ทำให้สามารถวางแผนการบินให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อม      ที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้น ช่วยยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการบินและช่วยลด   การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการดำเนินการตามแนวคิด TBO จะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย/แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในส่วนของประเทศไทย Boeing มองว่า มีโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศที่เข้มแข็ง     TBO จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ (Capacity) และเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) การจัดการจราจรทางอากาศและการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation) ต่อไป
  • TBO4
  • TBO5
  • TBO6
  • TBO7
  • TBO8
  • TBO9