• AEROTHAI
ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่า “จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 19 - 25 มกราคม 2566 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายเปิดประเทศเช่นกัน จึงส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินจากจีน ช่วงตรุษจีน รวม 240 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ  34 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินเข้า-ออก ตามตารางการบินปกติ เฉลี่ยวันละ 18 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขอเพิ่มพิเศษ เฉลี่ยวันละ 16 เที่ยวบิน (ไม่รวมเที่ยวบินขนส่งสินค้า) โดยแบ่งเป็น 4 ท่าอากาศยานหลัก ได้แก่ ท่าอากาศยาน  สุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินรวม 75 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 11 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง มีเที่ยวบินรวม 52 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 7 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานภูเก็ต มีเที่ยวบินรวม 78 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 11 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีเที่ยวบินรวม 35 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 5 เที่ยวบิน”

ดร.ณพศิษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเที่ยวบินจากจีนเมื่อเปรียบเทียบ ก่อนการระบาดของโควิด 19 เดือนมกราคม 2562 มีเที่ยวบินรวม 12,209 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 394 เที่ยวบิน ในขณะที่เดือนมกราคม 2566 วิทยุการบินฯ ประมาณการเที่ยวบินรวมทั้งเดือน อยู่ที่ 1,160 เที่ยวบิน หรือ เฉลี่ยวันละ 37 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 อยู่ร้อยละ 91  โดยหลังจากจีนมีนโยบายเปิดประเทศ คาดการณ์ว่า แนวโน้มปริมาณเที่ยวบินจากจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีเที่ยวบินจากจีน รวม 36,896 เที่ยวบิน เพิ่มจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 227.6 หรือ 2 เท่าของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะกลับมาเท่ากับปี 2562 ในปี 2567

ทั้งนี้ วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการบริหารจราจรทางอากาศรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมในคณะกรรมการจัดสรรตารางการบิน หรือ Slot Allocation ให้สอดคล้องกับค่าความสามารถ   ในการรองรับ (Capacity) และปัจจัยข้อจำกัดต่าง ๆ ของท่าอากาศยาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณเที่ยวบินสูงสุด อีกทั้งจัดเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ แนวทางการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท่าอากาศยาน และสายการบินผู้ใช้บริการ เพื่อให้การบริการการเดินอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย นอกจากนี้ได้เตรียม     ความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน โดยวิทยุการบินฯ ยืนยันว่าจะบริหารจัดการจราจรทางอากาศอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทย      ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด เป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ อีกทางหนึ่งด้วย