• แถลงข่าว 11 ต.ค. 61
  • แถลงข่าว 11 ต.ค. 61
  • แถลงข่าว 11 ต.ค. 61
จากกรณีมีการพาดพิง ถึงเหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินไทย  ไถลออกนอกรันเวย์ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เนื่องจาก บวท. ไม่มีเรดาร์ตรวจอากาศที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการจราจรทางอากาศ นั้น
 
นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยในกรณีดังกล่าวว่า อยู่ในกระบวนการการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม บวท. ในฐานะผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ แก่เที่ยวบินดังกล่าว ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด
 
ส่วนประเด็นเรดาร์ตรวจอากาศในการควบคุมจราจรทางอากาศนั้น ปัจจุบัน บวท. ใช้ข้อมูลสภาพอากาศ จากเรดาร์ตรวจจับกลุ่มเมฆฝน (Weather Radar) ในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของ
กรมอุตุนิยมวิทยา (มีมากกว่า 20 สถานี ติดตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ) โดยมีรัศมีทำการ 120 และ 240 กิโลเมตร จากสถานีเรดาร์ แสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆแบบภาพ ต่อเนื่อง (Loop) เพื่อแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (Update rate) ทุกๆ 10-15 นาที ทั้งนี้ บวท. จะแจ้งข้อมูลสภาพอากาศแก่นักบินเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำการบิน ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศจะใช้ข้อมูลดังกล่าว ในการวางแผนบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ในภาพรวม ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศทั้งหมดในปัจจุบันที่ได้รับ เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
 
นอกจากนี้ ระบบของ บวท. ยังมีข้อมูลจากการประมวลผลของระบบเรดาร์ปฐมภูมิ (Primary Surveillance Radar : PSR) ในลักษณะรูปภาพกราฟฟิก แสดงค่าความหนาแน่น ความเข้ม และระดับความรุนแรงของกลุ่มเมฆด้วยโทนสีต่างๆ ซึ่งมีติดตั้งใช้งานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
 
อย่างไรก็ตามในประเด็นของการจัดซื้อเรดาร์ตรวจอากาศนั้น มิได้เป็นภารกิจของ บวท. เนื่องจากตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังกำหนดไว้ว่า ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาคือ การบริหารจัดการด้านอุตุนิยมวิทยา โดยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเฝ้าระวังติดตาม รายงานสภาวะอากาศ อากาศเพื่อการบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยระบบและเทคนิคที่ทันสมัย ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการจัดหาเรดาร์ตรวจอากาศ จึงเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาตามระเบียบกฎกระทรวงดังกล่าว

นอกจากนี้ ตามระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดทำ ข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบินกับหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการจราจรทางอากาศ พ.ศ. 2559 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้หน่วยงานให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยาการบินของประเทศไทย


***********************************************************
กองสื่อสารองค์กร บวท.
โทรศัพท์ 02 285 9039 – 40 / 061 408 4488
Line ID : pr.aerothai
  • แถลงข่าว 11 ต.ค. 61
  • แถลงข่าว 11 ต.ค. 61

มัลติมีเดียที่เกี่ยวข้อง