• AEROTHAI671
  • AEROTHAI672
  • AEROTHAI673
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) หน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ ครบรอบการดำเนินงาน 76 ปี  มุ่งมั่นจัดการจราจรทางอากาศน่านฟ้าไทยให้เกิดความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้สูงสุด เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมขานรับนโยบายคมนาคมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่    การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “ในโอกาสครบรอบการดำเนินงานปีที่ 76 ของ บวท. หน่วยงานให้บริการการเดินอากาศของประเทศ ขานรับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการการเดินอากาศให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถ  เพื่อผลักดันการขนส่งทางอากาศของประเทศให้เป็นยอมรับ โดยมุ่งมันรักษามาตรฐานการบริการการเดินอากาศของประเทศให้อยู่ในระดับสากล ในโอกาสนี้ ผมขอชื่นชมผู้บริหารและบุคลากรของ บวท. ทุกท่าน ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาองค์กรและกิจการบินของประเทศ โดยผมพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้ บวท. มุ่งไปสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่อไป”

ดร. ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “ในปี 2566 ที่ผ่านมา บวท. ให้บริการการเดินอากาศ โดยมีปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 718,255 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจาก  ปี 2565 ที่มีปริมาณเที่ยวบิน 520,367 เที่ยวบิน จำนวน 197,888 เที่ยวบิน และคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินถึง 917,350 เที่ยวบิน ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 – 2 ล้านเที่ยวบินในอนาคต โดย บวท. ได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการการเดินอากาศและเพิ่มศักยภาพการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ของสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ อีกทั้งยังมีแผนการขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ได้แก่ การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพิ่มเติมขึ้นจากในปัจจุบันที่เป็นแบบเส้นทางบินเดียว หรือ One way route รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้วงอากาศและเส้นทางบิน เข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง หรือ Metroplex จำนวน 3 กลุ่มสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน (พังงา) และ กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง ล้านนา (ลำพูน) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้งาน เช่น ระบบหอบังคับการบินอัจฉริยะ ระบบเชื่อมต่อข้อมูลการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และขยายขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน บวท. ยังได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานห้วงอากาศของประเทศร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทางการบินต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคการบินของประเทศ พร้อมรองรับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
  • AERTHAI674
  • AEROTHAI675