บรรยากาศการจัดงานและเทปบันทึกภาพงาน Thailand UTM Forum 2022 วันที่ 28 กันยายน 2565

       28 ก.ย. 65 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) จัดการประชุม  Airspace Users -ANSP Meeting 2565 และการเสวนา Thailand UTM Forum 2022 การใช้งานระบบ OpenSky เพื่อขออนุญาตทำการบิน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น

       นายทินกร  ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ปฎิบัติการ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เป็นประธานการประชุม Airspace Users - ANSP Meeting ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของ บวท. แก่ผู้ใช้บริการห้วงอากาศ และรับทราบข้อคิดเห็นจากผู้ใช้ห้วงอากาศในทุกมิติเพื่อที่นำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายใหม่ๆ และพร้อมรองรับการกลับมาของอุตสาหกรรมการบิน โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น โครงการพัฒนาห้วงอากาศที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศ หรือ Metroplex เพื่อพัฒนาห้วงอากาศของกลุ่มสนามบินที่มีสภาพการจราจรทางอากาศหนาแน่นให้พร้อมรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้อย่างเหมาะสม โครงการพัฒนาระบบ Airport-CDM เชื่อมต่อกับระบบ Air Traffic Flow Management โครงการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทางวิ่งด้วยการจัดระยะห่างระหว่างอากาศยานรูปแบบใหม่ และโครงการจัดทำเส้นทางบินใหม่ เป็นต้น
       จากนั้น นางสิริเกศ เนียมลอย ผู้อำนวยการใหญ่ (บริหารจราจรทางอากาศ) บวท. เป็นประธานเปิดงานเสวนา Thailand UTM Forum 2022 โดย บวท. ได้ร่วมมือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาฯ ประกอบด้วย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ กองทัพอากาศ ร่วมนำเสนอแนวทางการส่งเสริมการใช้งานระบบ OpenSky เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตทำการบินโดรน พื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ Bangkok Control Zone ซึ่งครอบคลุมพื้นที่รัศมี 35 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 65 กิโลเมตรจากจุดอ้างอิงสนามบินดอนเมือง และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ห้วงอากาศที่ใช้ในการควบคุมจราจรทางอากาศ สำหรับอากาศยาน และและอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของหน่วยงานที่กำกับดูแล ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาทั้งจาก สถาบันอบรมนักบิน บริษัทผู้พัฒนา และนักบินโดรน ทั้งการบินเชิงพาณิชย์และสันทนาการ ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการ และปรับปรุงระบบ OpenSky ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพัฒนาต่อยอด ขยายขีดความสามารถ ในการให้บริการในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศในลำดับต่อไป

วีดิโอ